โภชนาการอาหารชีวจิต

“อาหาร” ที่คุณรู้จัก

ใครๆ ก็รู้จักคำว่า “อาหาร” แต่จะมีซักกี่คนที่เข้าใจกับคำๆ นี้ อย่างแท้จริง เพื่อให้เห็นภาพอย่างชัดเจน จึงขออธิบายว่า หมู เห็ด เป็ด ไก่ สิ่งเหล่านี้เรียกว่า “อาหาร” (Food) เมื่อมันยังไม่ถูกส่งเข้าปากของเรา แต่เมื่อเรากินมันเข้าไปแล้ว อาหารเหล่านี้ จะถูกเปลี่ยนสภาพโดยกระบวนการย่อยของร่างกาย เริ่มจากการบดเคี้ยว และเอนไซม์ในปาก แล้วเคลื่อนจากปากลงสู่กระเพาะอาหาร และจากกระเพาะอาหารลงสู่ลำไส้เล็ก ที่ลำไส้เล็กนี่เองที่ทำหน้าที่ในการเปลี่ยนสภาพจากอาหาร (Food) ให้เป็นสารอาหาร (Nutrient) อย่างสมบูรณ์ และบทบาทสำคัญของสารอาหารนี่แหละที่ทำหน้าที่ดูแล และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย รวมทั้งช่วยบำบัด และรักษาร่างกายยามเจ็บป่วยด้วย

You are what you eat….คุณเคยได้ยินหรือไม่???

อาหารแต่ละจานที่เรารับประทานเข้าไป แน่นอนว่าย่อมมีทั้งประโยชน์ และโทษ ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบ เครื่องปรุง วิธีการปรุง และปริมาณที่บริโภค รวมทั้งสภาพร่างกายของแต่ละคน แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ ทำให้เกิดทางเลือกในการบริโภคที่แตกต่างกัน ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เมื่อเรามีสิทธิ์เลือก เราก็ต้องเลือกอาหารที่ถูกปากมากกว่าอาหารที่ถูกหลักโภชนาการอยู่แล้ว แม้ว่าหลายคนจะทราบดีอยู่แล้วว่าการกินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการต้องกินอย่างไร แต่เพราะรสชาติของอาหารจานโปรดนี่แหละ ที่พาเราเกิดกิเลส และยอมละทิ้งอาหารที่ให้ประโยชน์มากกว่า

ดังที่ ฮิปโปเครติส (Hippocrates) บิดาของวงการแพทย์ กล่าวไว้ว่า “You are what you eat…คุณกินอะไรเข้าไป คุณก็เป็นอย่างนั้น” หากคุณเลือกกินอาหารที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกาย ร่างกายของคุณก็จะแข็งแรง ปลอดโรค แต่หากคุณกินไม่เลือก เมื่ออาหารที่ไม่ดีเข้าสู่ร่างกายของคุณในปริมาณที่มากเกินพอดี อาหารเหล่านั้น ก็จะกลายเป็นขยะ เป็นสารพิษที่สะสมในร่างกาย และไปขัดขวางการทำงานของระบบภูมิต้านทานของร่างกาย เป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ อย่างเช่น

• การกินแป้ง น้ำตาล มากเกินไป ทำให้เป็นเบาหวาน

• การกินอาหารที่มีรสเค็มมากเกินไป ทำให้เป็นโรคไต

• การกินอาหารที่มีไขมันมากเกินไป ทำให้เป็นโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด เป็นต้น

ฉะนั้น การเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ อย่างอาหารชีวจิต จึงเป็นอีกทางเลือกในการดูแลสุขภาพอย่างชัดเจนอีกทางหนึ่ง หลายคนคงสงสัยกับคำว่า “ชีวจิต” ว่าจริงๆ แล้ว หมายถึงอะไร แล้วเกี่ยวข้องกับสุขภาพของเราได้อย่างไร???

“ชีวจิต”…สุขภาพทางเลือก

ชีวจิต เป็นแนวความคิดเรื่องสุขภาพแบบองค์รวม คือ ผนวกรวมเอา “ชีว” ที่หมายถึง “กาย” รวมเข้ากับ “จิต” ที่หมายถึง “ใจ” ซึ่งทั้งสองส่วนย่อมมีผลต่อกันโดยตรง และไม่สามารถแยกออกจากกันได้ หรืออธิบายได้ว่า คนเราจะมีความสุข ความแข็งแรงได้ ก็ต่อเมื่อกาย และใจ ทำงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ใช้ชีวิตให้เป็นไปตามธรรมชาติให้มากที่สุด

เมื่อนำแนวทางการปฏิบัติแบบชีวจิตมาใช้ร่วมกับการรับประทานอาหารอย่างถูกหลักโภชนาการ เพื่อให้ได้สุขภาพที่แข็งแรง สมบูรณ์ จึงเกิดเป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพแบบใหม่ เป็นที่นิยม และแพร่หลายอย่างมาก นั่นก็คือ “อาหารชีวจิต”

อาหารชีวจิต เป็นแนวทางการรับประทานอาหารที่ ดร.สาทิส อินทรกำแหง ศึกษา และปรับปรุงจากหลักการของแมคโครไบโอติกส์ ให้เหมาะสมกับสภาพวิถีชีวิตของคนไทย กล่าวโดยรวมๆ อาหารชีวจิต คือ อาหารชั้นเดียว หมายถึง อาหารที่คงสภาพตามธรรมชาติเดิมไว้มากที่สุด ไม่ต้องผ่านการปรุงแต่งมากมาย และคงรสชาติเดิมของอาหารไว้มากที่สุด เป็นการนำความรู้ทางโภชนาการขั้นสูงมาพิจารณาอาหารต่างๆ แล้วเลือกสรรเฉพาะอาหารที่ให้คุณค่าแก่ร่างกาย และจิตใจมากที่สุด ที่สำคัญคือ เป็นอาหารที่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในร่างกายน้อยที่สุด

อาหารที่ควรงด ตามแนวทางชีวจิต

• เนื้อสัตว์ย่อยยาก ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อหมู และเนื้อไก่

• แป้งขัดขาว และผลิตภัณฑ์จากแป้งขัดขาวทุกชนิด

• น้ำตาลฟอกขาว และผลิตภัณฑ์จากน้ำตาลฟอกขาวทุกชนิด

• ไขมันเลว คือ ไขมันอิ่มตัว ได้แก่ ไขมันจากสัตว์ น้ำมันปาล์ม และกะทิ

กินตามสูตรสุขภาพ…แบบชีวจิต

1. อาหารประเภทแป้งไม่ขัดขาว

        เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ถ้าเป็นข้าวโพด จะเป็นข้าวโพดทั้งเมล็ด หรือทั้งฝัก ถ้าเป็นแป้งขนมปัง ก็เป็นขนมปังโฮลวีท และแป้งกลุ่มคอมเพล็กซ์ คาร์โบไฮเดรต คือ แป้งหลายชั้น ซึ่งมีโปรตีนปนอยู่ด้วย โดยการเติมมันเทศ มันฝรั่ง เผือก และฟักทองลงไป

กลุ่มนี้ ควรรับประทาน 50 % หรือครึ่งหนึ่งของอาหารแต่ละมื้อ

2. ผัก

        ใช้ทั้งผักดิบ และผักปรุงสุกอย่างละครึ่ง ที่สำคัญ ต้องล้างผักให้สะอาด หรือเลือกบริโภคผักที่ปลอดสารพิษ

กลุ่มนี้ ควรรับประทาน 25 % หรือหนึ่งในสี่ของอาหารแต่ละมื้อ

3. โปรตีน

        เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น เต้าหู้ โปรตีนเกษตร นอกจากนี้ควรบริโภคโปรตีนจากสัตว์เป็นครั้งคราว เช่น ไข่ ปลา และอาหารทะเล สัปดาห์ละ 1 – 2 มื้อ

กลุ่มนี้ ควรรับประทาน 15 % ของอาหารแต่ละมื้อ

4. เบ็ดเตล็ด

        • อาหารประเภทแกง เช่น แกงจืด แกงเลียง

        • อาหารประเภทซุป เช่น ซุปมิโซะ (ซุปเต้าเจี้ยวญี่ปุ่น)

        • อาหารประเภทของขบเคี้ยว เช่น ถั่วคั่ว เมล็ดฟักทอง เมล็ดแตงโม เมล็ดดอกทานตะวัน เมล็ดงา

        • ผลไม้สด ที่มีรสชาติไม่หวานจัด เช่น ฝรั่ง มะม่วงดิบ พุทรา แอปเปิ้ล

กลุ่มนี้ ควรรับประทาน 10 % ของอาหารแต่ละมื้อ

อย่างไรก็ตาม อาหารชีวจิต นอกจากคำนึงถึงคุณประโยชน์แล้ว ยังให้ความสำคัญกับความอร่อย และหน้าตาของอาหาร แม้ว่ารสชาติจะไม่จัดจ้าน แต่ก็มีความกลมกล่อมแบบพอดีๆ ที่สำคัญ หากคุณต้องการเน้นสุขภาพแบบชีวจิต การรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ ควรคำนึงถึงความสมดุลตามสัดส่วนของชีวจิตด้วย

ดังนั้น การเลือกรับประทานอาหารตามแนวทางของชีวจิตนั้น มองผิวเผินอาจมีความลึกซึ้ง เข้าใจยาก แต่ในทางปฏิบัติจริงนั้น ไม่ได้ยุ่งยากแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย และเข้าถึงแก่นแท้ของธรรมชาติอย่างแท้จริง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
    • ดร.สาทิส อินทรกำแหง
    • นิตยสารชีวจิต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *