ทำไมเราถึงอ้วน?

คนส่วนใหญ่มักคิดว่า ความอ้วน เกิดจากกรรมพันธุ์ จริงอยู่ที่ว่า กรรมพันธุ์เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นปัจจัยส่งเสริมให้อ้วนได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคอ้วนมักเกิดจากพฤติกรรมของคนเราเองเสียมากกว่า คือ กินมากเกินไป ไม่ค่อยออกกำลังกาย ซึ่งมีส่วนน้อยที่อาจเกิดจากการที่มีฮอร์โมนผิดปกติ หรือกินยากลุ่มเสตียรอยด์ และยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุของโรคอ้วนได้ ดังนี้

ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของโรคอ้วน

1. กิจวัตรประจำวัน: ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ทำงานในออฟฟิศมากกว่างานที่ใช้แรง ทำให้การใช้พลังงานในแต่ละวันลดน้อยลง บางคนกินอาหารหนักมื้อเย็น บ้างก็ใช้เวลากับงานทั้งวัน กินจุกจิก และขาดการออกกำลังกาย 2. เพศ: เพศหญิงมีโอกาสอ้วนมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้ชายมีกล้ามเนื้อมาก ทำให้เกิดการเผาผลาญพลังงานมากกว่า 3. อายุ: เมื่ออายุมากขึ้น มวลกล้ามเนื้อจะน้อยลง ระบบเมตาบอลิซึ่มของร่างกายน้อยลง ทำกิจกรรมต่างๆ ลดลง ทำให้มีการใช้พลังงานน้อย พลังงานจึงถูกเก็บในของรูปไขมันแทน

ภาวะเจ็บป่วยทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการมีน้ำหนักเกินและโรคอ้วน Cushing’s syndrome (พบได้น้อย เป็นผลมาจากการที่ต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมน cortisol มากเกินไป มีการผลิตฮอร์โมน cortisol จากเซลล์ที่ผิดปกติส่วนอื่นของร่างกาย หรือได้รับฮอร์โมน cortisol จากภายนอก) การขาด Growth hormone (ขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต) Hypogonadism (มีภาวะฮอร์โมนเพศต่ำ) Hypothyroidism (ฮอร์โมนthyroidต่ำ) Insulinoma (เนื้องอกบริเวณตับอ่อนที่มีผลต่อการหลั่งอินซูลิน)


ยาที่ก่อให้เกิดโรคอ้วน

ยาบางอย่างมีผลทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น โดยมากมักจะเพิ่มความอยากอาหารและก่อให้เกิดโรคอ้วน ได้แก่ ยารักษาโรคเบาหวานบางชนิด หากพบว่ามีภาวะน้ำหนักเกินอาจปรับเปลี่ยนยาเป็นกลุ่มอื่นหรืออาจจำเป็นต้องใช้
Thiazolidinediones (Actos และ Avandia)
Steroids
ยาคุมกำเนิดบางชนิด
ยารักษาโรคจิตเวช และอาการซึมเศร้า ได้แก่ lithium, antipsychotics และ antidepressants
ยากันชัก (ใช้รักษาโรคลมชัก epilepsy และภาวะอื่นๆ) เช่น sodium valproate และ carbamazepine

อาจมียาทดแทนอื่นๆที่ไม่ทำให้น้ำหนักเพิ่มหรืออาจลดปริมาณยาที่กินลง โดยคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรหยุดหรือลดยาด้วยตัวคุณเอง

อ้วนแล้วส่งผลเสียอะไรบ้าง?

การมีน้ำหนักตัวมากเกินไปหรือปล่อยให้อ้วนนั้น ส่งผลเสียหลายอย่างทั้งด้านร่างกายและจิตใจ มีการศึกษาว่าภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากกว่า 3 ล้านคน โดยตัวอย่างของโรคและภาวะผิดปกติที่ปัจจัยเสี่ยงจากการมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ ก็เช่น

1.โรคข้อและกระดูก: ส่วนที่พบบ่อย คือ ข้อเข่าและข้อเท้าเสื่อม เพราะข้อต้องรับน้ำหนักมาก ทำให้ข้อเสื่อมก่อนวัยอันควรได้ อีกทั้งมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเก๊าท์มากขึ้นด้วย

2.โรคต่อมไร้ท่อ: คนที่อ้วนลงพุง (เอวใหญ่กว่า 35.5 นิ้ว ในเพศชาย และ 31.5 นิ้วในเพศหญิง) มีโอกาสเกิดโรคเบาหวานและไขมันในเลือดสูงมากขึ้น ผู้หญิงที่อ้วนมาก อาจมีประจำเดือนผิดปกติ มีเลือดระดูออกปริมาณมาก หรือประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากการแปรปรวนของสมดุลฮอร์โมนเพศในร่างกาย ส่วนใหญ่เด็กหญิงที่มีน้ำหนักมากมักมีประจำเดือนครั้งแรกมักมาเร็วกว่าเด็กวัยเดียวกัน

3.โรคหัวใจและหลอดเลือด: คนที่อ้วนลงพุงมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะผู้ที่มีไขมันชนิด LDL และ ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ไขมันชนิดดี (HDL)ต่ำ ความดันโลหิตสูงและน้ำตาลในเลือดสูงโรคเบาหวาน

4.โรคระบบหายใจ: คนอ้วนอาจมีปัญหานอนกรน เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือ Obstructive sleep apnea ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน จึงเกิดอาการง่วงซึมในเวลากลางวัน และหากปล่อยไว้เป็นเวลานานก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและโรคปอดได้

5.โรคผิวหนัง: มีโอกาสติดเชื้อราได้ง่าย มักพบบริเวณขาหนีบหรือรอยพับของผิวหนัง นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิดเส้นเลือดขอดตามขาได้ด้วย

6.โรคมะเร็ง: ความอ้วนมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งในอวัยวะบางส่วนของร่างกาย เช่น มะเร็งเยื่อบุมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อลูกหมาก มะเร็งหลอดอาหาร หรือมะเร็งปอดในผู้ที่ไม่สุบบุหรี่ เป็นต้น

7.โรคนิ่วในถุงน้ำดี: มีความเสี่ยงในการเกิดโรคนิ่วในถุงน้ำดีและถุงน้ำดีอักเสบติดเชื้อมากขึ้น

8.มีปัญหาทางจิตใจและสังคม: มีปมด้อยเกี่ยวกับรูปร่าง เคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก ไม่กระฉับกระเฉง อาจถูกล้อเลียนจากคนรอบข้าง หรือขาดโอกาสในการทำงานบางอย่าง

โรคอ้วน

ความอ้วน ถือเป็นการแสดงความสมบูรณ์ของอาหารการกิน รวมถึงความเป็นอยู่หรือฐานะของแต่ละบ้านในสมัยโบราณ ซึ่งในปัจจุบันอาจไม่ได้หมายความในแบบนั้นแล้ว เพราะอาหารต่างๆ ก็หาซื้อได้ง่ายขึ้น ประกอบกับสังคมบริโภคนิยมที่สนับสนุนการบริโภคที่เกินความจำเป็น โดยวัดความเจริญที่ปริมาณการบริโภค คือ คนบริโภคมากก็มีความสุขมาก

แต่ยิ่งกว่านั้นคือ พฤติกรรมของคนเราเองด้วยที่มักจะเลือกความรวดเร็วและสะดวกสบายต่อการใช้ชีวิต ทำให้อาหารสำเร็จรูปต่างๆ เป็นที่นิยมอยู่ไม่ขาดสาย ซึ่งอาหารสำเร็จรูปมักประกอบด้วยแป้งและไขมันเป็นจำนวนมากหรือที่เรียกว่า อาหารขยะ (junkfood)นั่นเอง นอกจากพฤติกรรมการบริโภคแล้ว การขาดการออกกำลังกายก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ส่งเสริมให้เป็นโรคอ้วนกันมากขึ้นด้วย

อ้วนหรือไม่ วัดได้จากอะไร?

ปัจจุบันมีการใช้การวัดค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) เป็นเกณฑ์ประกอบการวินิจฉัยโรคอ้วน ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมแพร่หลาย ที่องค์การอนามัยโลกรับรอง

BMI คือ ค่าที่ได้มาจากการหารน้ำหนักซึ่งวัดเป็นกิโลกรัม ด้วยความสูงที่วัดเป็นเมตร ยกกำลังสอง ดังสูตร BMI = น้ำหนัก / (สูง)2 หน่วยเป็น กิโลกรัม/ตารางเมตร (Kg/m2)

ตารางประเมินค่าดัชนีมวลกาย (BMI)

ดัชนีมวลกายปกติของคนเอเชีย คือ 18.5 – 22.9 Kg/m2 ถ้ามากกว่านี้ ถือว่าเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน และโรคอื่นๆ อีกหลายชนิด

ดัชนีมวลกาย ส่วนใหญ่มักใช้เพื่อดูแนวโน้มการเป็นโรคอ้วนของประชากรโดยรวม หรือใช้เพื่อคัดสรรหาคนเป็นโรคอ้วนเบื้องต้น หากต้องการตรวจสุขภาพอย่างละเอียด จำเป็นต้องมีมาตรวัดอื่นประกอบด้วย เช่น วัดเส้นรอบเอว เป็นต้น

การรักษาโรคอ้วน

1. ในกรณีมีค่า BMI มากกว่า 27 Kg/m2 หรือมีโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง แพทย์อาจให้ยาช่วยลดน้ำหนัก ซึ่งมีอยู่ 2 กลุ่ม ได้แก่
ยาที่ทำให้รู้สึกอิ่มนานขึ้น
ยาที่ลดการดูดซึมไขมันจากอาหาร
ยาทั้งสองมีผลข้างเคียง และการใช้ยาต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์

2.ในกรณีมีค่า BMI มากกว่า 35 Kg/m2 หรือมีโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง อาจรักษาโดยการผ่าตัดให้กระเพาะอาหารเล็กลง ทำให้ผู้ป่วยกินอาหารได้น้อยลงในแต่ละมื้อ รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น น้ำหนักจึงลดลง แต่ก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารไปตลอดชีวิต

สรุป ในปัจจุบันอัตราคนเป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสาเหตุของโรคส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการกิน และขาดการออกกำลังกาย แต่ก็มีปัจจัยอื่น ที่สามารถส่งผลให้เป็นโรคนี้ได้เช่นกัน ในปัจจุบันมีการใช้เกณฑ์ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เป็นตัววัดเบื้องต้นว่ามีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือไม่ โดยค่าน้ำหนักหารด้วยส่วนสูงยกกำลังสอง สำหรับการรักษาโรคอ้วนนั้น ส่วนใหญ่จะเน้นให้ควบคุมอาหาร เลือกประเภทอาหาร และออกกำลังกาย แต่สำหรับผู้ที่มีภาวะอ้วนรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคอ้วน อาจมีการใช้ยาหรือการผ่าตัดร่วมด้วย แต่ทางที่ดีที่สุด ก็คือพยายามควบคุมน้ำหนักตัวด้วยตัวเอง ดังนั้น ในคนอ้วน หรือคนที่รู้ตัวแล้วว่าน้ำหนักกำลังมากเกินไปแล้ว ก็ต้องคอยเฝ้าระวัง ดูแลเรื่องอาหาร และหมั่นออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักให้ดี อย่าปล่อยให้เกิดปัญหาแล้วค่อยมาแก้ไขทีหลัง