โรคอ้วน

ความอ้วน ถือเป็นการแสดงความสมบูรณ์ของอาหารการกิน รวมถึงความเป็นอยู่หรือฐานะของแต่ละบ้านในสมัยโบราณ ซึ่งในปัจจุบันอาจไม่ได้หมายความในแบบนั้นแล้ว เพราะอาหารต่างๆ ก็หาซื้อได้ง่ายขึ้น ประกอบกับสังคมบริโภคนิยมที่สนับสนุนการบริโภคที่เกินความจำเป็น โดยวัดความเจริญที่ปริมาณการบริโภค คือ คนบริโภคมากก็มีความสุขมาก

แต่ยิ่งกว่านั้นคือ พฤติกรรมของคนเราเองด้วยที่มักจะเลือกความรวดเร็วและสะดวกสบายต่อการใช้ชีวิต ทำให้อาหารสำเร็จรูปต่างๆ เป็นที่นิยมอยู่ไม่ขาดสาย ซึ่งอาหารสำเร็จรูปมักประกอบด้วยแป้งและไขมันเป็นจำนวนมากหรือที่เรียกว่า อาหารขยะ (junkfood)นั่นเอง นอกจากพฤติกรรมการบริโภคแล้ว การขาดการออกกำลังกายก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ส่งเสริมให้เป็นโรคอ้วนกันมากขึ้นด้วย

อ้วนหรือไม่ วัดได้จากอะไร?

ปัจจุบันมีการใช้การวัดค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) เป็นเกณฑ์ประกอบการวินิจฉัยโรคอ้วน ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมแพร่หลาย ที่องค์การอนามัยโลกรับรอง

BMI คือ ค่าที่ได้มาจากการหารน้ำหนักซึ่งวัดเป็นกิโลกรัม ด้วยความสูงที่วัดเป็นเมตร ยกกำลังสอง ดังสูตร BMI = น้ำหนัก / (สูง)2 หน่วยเป็น กิโลกรัม/ตารางเมตร (Kg/m2)

ตารางประเมินค่าดัชนีมวลกาย (BMI)

ดัชนีมวลกายปกติของคนเอเชีย คือ 18.5 – 22.9 Kg/m2 ถ้ามากกว่านี้ ถือว่าเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน และโรคอื่นๆ อีกหลายชนิด

ดัชนีมวลกาย ส่วนใหญ่มักใช้เพื่อดูแนวโน้มการเป็นโรคอ้วนของประชากรโดยรวม หรือใช้เพื่อคัดสรรหาคนเป็นโรคอ้วนเบื้องต้น หากต้องการตรวจสุขภาพอย่างละเอียด จำเป็นต้องมีมาตรวัดอื่นประกอบด้วย เช่น วัดเส้นรอบเอว เป็นต้น